แฟชั่น บิ๊กอาย

บิ๊กอาย กับ แฟชั่นในปัจจุบัน

เลนส์ตาโต เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดตาโต หรือที่วัยรุ่นเรียกกันว่า “บิ๊กอาย”จะเหมือนกับคอนแทคเลนส์แฟชั่นสมัยก่อนที่มีสีสันให้เลือกมากมาย แต่ที่แตกต่างคือ เลนส์สีบริเวณตรงกลางดวงตาจะเป็นเลนส์ใสปกติแต่บริเวณขอบเลนส์จะมีสีดำ ทำให้ขอบตาคุณดูชัดมากขึ้น มีราคาตั้งแต่ 450 – 2,000 บาท

ใส่บิ๊กอายตาติดเชื้อ

บิ๊กอายทำตาบอด ติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์เตือนวัยโจ๋

แพทย์เตือนอันตรายจากคอนแทกท์เลนส์ "บิ๊กอาย" หลังมีผู้ป่วยติดเชื้อสูโดโมแนสที่ตา ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาตัวแล้ว 4 ราย จักษุแพทย์ ระบุ เป็นแบคทีเรียร้ายแรงลามกินตาดำได้ภายใน 2 วัน รักษาไม่ทันถึงขั้นตาบอด ผู้ป่วยรับหาซื้อง่ายแม้กระทั่งตามตลาดนัด จี้ภาครัฐออกมาเข้มงวด เพราะจัดอยู่ในกลุ่ม เครื่องมือแพทย์ ต้องได้รับอนุญาตจาก อย.

เลดี้ กาก้า Lady Gaga ใส่บิ๊กอาย

เลดี้กาก้า นำเทรนบิ๊กอาย อเมริกาเตือน Big Eye เป็นอันตราย ผิดกฏหมายในอเมริกา

นับตั้งแต่กระแสความโด่งดังของ Music Video "Bad Romance" ของนักร้องสาวชาวอังกฤษ Lady Gaga ทำให้วัยรุ่นอเมริกันเริ่มนิยมใส่ Contact Lenses ที่เรียกว่า "Big Eye" กันเป็นจำนวนมาก จนหลายฝ่ายต้องออกมาเตือนในการใช้และการเลือกซื้อ เพราะวัยรุ่นจำนวนมากนิยมสั่งซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต จากร้านค้าออนไลน์ในแถบเอเชีย...

บิ๊กอาย คอนแทคเลนส์ปลอม

อันตรายจากการใช้คอนแทคเลนส์แฟชั่น "บิ๊กอาย"

กระแสคอนแทคเลนส์แฟชั่นได้แพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณต้นปี 2549 ที่ผ่านมา โดยวัยรุ่นไทยนิยมใส่คอนแทคเลนส์แฟชั่นเพื่อให้ตา กลมโตเลียนแบบดาราเกาหลี และญี่ปุ่น คอนแทคเลนส์แฟชั่นดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันดีในนาม บิ๊กอายส์ หรือ คอนแทคเลนส์ตาโต ราคาก็มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ระยะเวลาการใช้งานก็มีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ 1 เดือนไปจนถึง 1 ปี

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คอนแทคเลนส์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คอนแทคเลนส์ แสดงบทความทั้งหมด

17 พ.ค. 2554

คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งและนิ่ม

คอนแทคเลนส์ เป็นเลนส์สัมผัสที่ใช้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสายตา โดยการวางไว้บนกระจกตาและครอบคลุมถึงตาขาวบางส่วน คอนแทคเลนส์มีรูปร่างลักษณะคล้ายหอยเชลล์ ทำจากกระจก, พลาสติก, กระจกผสมพลาสติก, ซิลิโคนและซิลิโคนผสมพลาสติก
โดยทั่วไปคอนแทคเลนส์จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
Hard Contact Lens คือคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง คือ คอนแทคเลนส์มีลักษณะแข็งไม่มีความยืดหยุ่น
คอนแทคเลนส์มีขนาดเล็กว่าตาดำ วางอยู่บนกระจกตาเท่านั้น คอนแทคเลนส์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7.2-8.8 มม. และทำจากพลาสติก, พลาสติกผสมซิลิโคน (PMMA) ออกซิเจนซึมผ่านได้น้อย

ประเภทคอนแทคเลนส์


ข้อดีของคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง
  1. ราคาถูกกว่าเลนส์ชนิดนิ่ม
  2. การถอดและใส่ทำได้ง่ายกว่า
  3. ทนทานต่อการเป็นรอยขูดขีด
  4. ให้ภาพคมชัดกว่าเลนส์ชนิดนิ่ม เหมาะสำหรับสายตาเอียง
  5. ดูแลและเก็บรักษาง่าย
  6. มีอายุการใช้งานนานกว่า 5 - 7 ปี


ข้อเสียของคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง
  1. ใช้เวลาปรับตัวนาน
  2. เลนส์มีโอกาสหลุดง่าย อาจแตกหักได้
  3. ถ้าใส่เป็นเวลานานจะทำให้กระจกตาเบี้ยวหรือเกิดการบวมได้
คอนแทคเลนส์ชนิดที่สอง Soft Contact Lens คือ คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม มีความยืดหยุ่น ขนาดใหญ่กว่าตาดำ วางอยู่บนกระจกตาดำและบางส่วนของตาขาวประมาณ 2 มม. มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 12.5-16 มม.
และทำจากซิลิโคน (HEMA) ออกซิเจนสามารถซึมผ่านได้ดี

ข้อดีของคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม
  1. ใส่ได้สบายตั้งแต่ระยะแรก ใช้เวลาในการปรับตาสั้น
  2. เลนส์ไม่หลุดง่ายใส่เล่นกีฬาได้ดี
  3. สามารถใส่เลนส์ได้นานหรือใส่ติดต่อกันได้ 2-3 วัน
  4. ใส่เพื่อเสริมสร้างความสวยงามได้

ข้อเสียของคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม
  1. ราคาแพง
  2. ดูแลรักษาความสะอาดยาก สกปรกง่าย ต้องล้างทำความสะอาดทุกวัน
  3. อายุการใช้งานสั้นประมาณ 1 ปี

16 พ.ค. 2554

คอนแทคเลนส์และแว่นตา กับข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน

ข้อดี ของคอนแทคเลนส์เมื่อเทียบกับแว่นตา
  • มีมุมมองภาพมากกว่าแว่นตา
  • ขนาดของวัตถุที่มองเห็นผ่านคอนแทคเลนส์ จะใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่าแว่นตาโดยคอนแทคเลนส์จะมีการขยายและย่อภาพน้อยกว่าแว่นตา เฉพาะสายตาหลังการผ่าตัดชนิดข้างเดียวและสองข้าง และมีค่าสายตาสั้นหรือยาวมากดังนี้ คอนแทคเลนส์ : ภาพที่เห็นจะขยายและย่อกว่าปกติ 3% แว่นตา : ภาพที่เห็นจะขยายและย่อกว่าปกติ 10%
  • เพิ่มความสวยงามโดยเฉพาะคนที่มีค่าสายตาสูง
  • สามารถใส่เล่นกีฬาได้สะดวกและปลอดภัยมากกว่าแว่นตา
  • ไม่มีเงาสะท้อนเหมือนแว่นตา
  • ไม่มีรอยน่าเกลียดบนใบหน้าเช่น รอยคล้ำที่จมูกหรือเป็นแผลตรงขมับ
  • สามารถใส่แว่นกันแดดได้ตามความพอใจ
  • ใช้ได้ดีกันคนไข้ที่เป็น "ลูกตาสั่น" (Nystagmus)
  • คนไข้สามารถมองผ่านส่วนที่เป็นจุดกึ่งกลางของเลนส์อยู่ตลอดเวลา

คอนแทคเลนส์ และแว่นตา

ข้อแนะนำการใช้คอนแทคเลนส์
  • คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับตาควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย
  • ไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ที่หมดอายุ ฉีกขาด หรือไม่ได้มาตรฐาน
  • ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง
  • ทำความสะอาด คอนแทคเลนส์ และตลับแช่อย่างถูกต้องทุกขั้นตอนเป็นประจำ
  • ไม่ควรล้างเลนส์และตลับแช่ คอนแทคเลนส์ ด้วยน้ำประปา
  • ควรเปลี่ยนน้ำยาแช่ คอนแทคเลนส์ ในตลับคอนแทคเลนส์ทุกวันและใช้น้ำยาใหม่จากขวดทุกครั้ง ไม่ควรใช้นำน้ำยาเก่ากลับมาใช้ใหม่
  • ควรเปลี่ยนตลับคอนแทคเลนส์อย่างน้อย 3 เดือนครั้ง
  • ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ขณะว่ายน้ำ
  • ไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอนหลับและไม่ควรใส่นานเกินไปในแต่ละวัน
  • ห้ามขยี้ตาและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละออง มลภาวะ ขณะใส่คอนแทคเลนส์12. ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ซ้อนกัน 2 อัน
  • ควรเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ตามระยะเวลาที่กำหนด
  • บางครั้งคอนแทคเลนส์อาจหมดอายุก่อนกำหนดขึ้นอยู่กับการใช้งานและการรักษาทำความสะอาด ถ้ารู้สึกว่า คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสภาพแล้วไม่ควรฝืนนำใส่ต่อไป
  • ในการทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ น้ำยาสูตรแยกสำหรับแต่ละขั้นตอนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าน้ำยาประเภทรวมครบในขวดเดียว
  • ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง เคืองตามาก เจ็บตา น้ำตาไหลมาก แพ้แสง ภาพมัว ควรหยุดใส่ คอนแทคเลนส์และปรึกษาแพทย์


แหล่งที่มา : เด็กดีดอทคอม

18 ก.พ. 2554

[ข่าว] อย.- บก.ปคบ.ลุยตรวจคอนแทคเลนส์ "บิ๊กอาย" ทั่วกรุง จับยึดบิ๊กอายผิดกฏหมายได้นับพัน

บิ๊กอายเถื่อน บิ๊กอายปลอม
หมายเหตุ : ภาพข้างบนเป็นเพียงภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น

 
อย.จับมือบก.ปคบ. บุคตรวจ 6 ห้างดังกลางกรุง กวาดล้างคอนแทกเลนส์ "บิ๊กอาย" หรือเลนส์ตาโตผิดกฏหมาย ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. เข้าตรวจสอบทั้งหมด 25 ร้าน พบร้านนที่ทำผิดกฏหมายจำนวน 3 ร้าน อยู่ภายในห้างยูเนียนมอลล์ ลาดพร้าว มีคอนแทคเลนส์บิ๊กอายผิดกฏหมายจำนวน 16 รายการ รวมของกลางทั้งหมด 1500ชิ้น มูลค่ากว่า 300,000 บาท ผู้นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษถึงขั้นจำคุก 3 ปี หรือปรับ 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้ง อย. ยังได้ตรวจสอบเว็ปไซต์ที่มีการโฆษณาจำหน่ายเลนส์บิ๊กอายอีกด้วย หากพบการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตอ อย.จำทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงไอซีที ให้สั่งปิดเว็ปไซต์ที่หลอกลวงผู้บริโภคทันที โดยผู้โฆษณามีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การใช้บิ๊กอาย หรือเลนส์ตาโตอย่างไม่ถูกวิธีนั้น ทำให้มีอันตรายจากการแพ้ ติดเชื้อ กระจกตาเป็นแผล จนอาจทำให้ตาบอดได้ ขอแนะนำ
ให้ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ปรึกษาจักษุแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมไปถึงควรศึกษาวัตถุประสงค์ วิธีใช้ การเก็บรักษา ระยะเวลาการใช้งาน ควรสังเกต วัน เดือน ปี  ที่หมดอายุ คำเตือน ข้อห้ามใช้ และข้อควรระวังในการใช้ และควรใช้คอนแทคเลนส์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว ไม่ควรซื้อเองจากร้านค้าทั่วไป ตามแผงต่างๆในห้างสรรพสินค้า เพราะใช้แล้วอาจเกิดอันตรายได้ รวมทั้งต้องใส่ใจในการทำความสะอาดเลนส์ ทั้งการล้าง แช่ เก็บ และก่อนสวมใส่ ทุกขั้นตอนต้องสะอาด ไม่ควรใส่ขณะว่ายน้ำ ที่สำคัญต้องไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวักทุกแห่งทั่วประเทศ จำดำเนินการเฝ้าระวังตรวจสอบร้านจำหน่าย บิ๊กอาย หรือเลนส์ตาโต ในห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด และตามแผงลอยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้

ที่มา : fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/ข่าวตรวจจับเลนส์ตาโต..pdf

14 ม.ค. 2554

เลดี้กาก้า นำเทรนบิ๊กอาย อเมริกาเตือน "Big Eye" เป็นอันตราย ผิดกฏหมายในอเมริกา

นับตั้งแต่กระแสความโด่งดังของ Music Video "Bad Romance" ของนักร้องสาวชาวอังกฤษ Lady Gaga ทำให้วัยรุ่นอเมริกันเริ่มนิยมใส่ Contact Lenses ที่เรียกว่า "Big Eye" กันเป็นจำนวนมาก จนหลายฝ่ายต้องออกมาเตือนในการใช้และการเลือกซื้อ เพราะวัยรุ่นจำนวนมากนิยมสั่งซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต จากร้านค้าออนไลน์ในแถบเอเชีย  



Lady Gaga Bad Romance ใส่บิ๊กอาย
Lady Gaga - Bad Romance
 
เลดี้ กาก้า นักร้องสาวแนวป๊อปแดนซ์ ที่กำลังโด่งดังสุดขีดอยู่ในขณะนี้ ถูกตำหนิอีกแล้ว ฐานมีส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นหันมานิยมใส่คอนแท็คเลนส์ "บิ๊กอาย" ที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ซึ่งเป็นการเอาอย่างในมิวสิควีดีโอ "แบ้ด โรแมนซ์" ของเธอ ที่ใส่คอนแท็คเลนส์ชนิดทำให้ดวงตาดูกลมโตแป๋วแหวว และปรากฎว่าคอนแท็คเลนส์ชนิดนี้ขายดีอย่างมากในอินเตอร์เน็ต แต่เป็นสิ่งผิดกฎหมายในสหรัฐ เพราะสำนักงานอาหารและยาแห่งสหพันธ์ ( FDA ) ไม่ให้การรับรอง คอนแท็คเลนส์ชนิดนี้ไม่ได้คลุมแค่กระจกตาเหมือนคอนแท็คเลนส์ทั่วไป แต่ยังคลุมไปถึงตาขาวอันเป็นสาเหตุในดวงตาที่ถูกปกคลุมขาดอ็อกซิเจน และมีความเป็นไปได้สูงที่จะติดเชื้อแบคทีเรียหรือรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น อีกทั้งการผลิต contact lenses "Big Eye" บางครั้งไม่ได้คุณภาพที่ดีพอ หรือไม่ได้ผลิตจากคนที่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับดวงตามากพอ (เช่น จักษุแพทย์) ก็จะทำให้ตาบอด อักเสบติดเชื้อ หรือทำลาย cornea
ดร.มาจิด โมเช่ จากศูนย์ดวงตาโมรัน กล่าวว่า การใส่คอนแท็คเลนส์ประเภทนี้ อาจส่งผลให้ดวงตาแห้งเรื้อรัง ซึ่งอาการแบบนี้อาจไม่เกิดกับทุกคนที่ใส่ แต่สำหรับบางคนก็อาจโชคร้ายได้เช่นกัน


มิวสิกวิดีโอเพลง Bad Romance ของ Lady Gaga


ข้อมูลจาก :  http://www.cbsnews.com/stories/2010/07/07/eveningnews/main6655501.shtml

18 พ.ย. 2553

เรื่องที่คนใส่คอนแทคเลนส์ต้องรู้

สำหรับคนสายตาไม่ปรกติ ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว คงคุ้นเคยกันดีกับคอนแทคเลนส์ที่ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้คุณกลับมาดูดีกว่าการใส่แว่น (สำหรับคนที่ไม่ชอบแว่นตา) แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักถึงภัยเงียบอันร้ายกาจของคอนแทคเลนส์ ซึ่งอาจจะทำให้ดวงตาของคุณบอดสนิทได้

สัปดาห์นี้จึงมีสาระน่ารู้เกี่ยวกับคอนแทคเลนส์มาฝาก

ใส่นานเกิน อันตรายกว่าที่คิด
ผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาระบุว่า ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นานเกิน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน แต่ด้วยวิถีการใช้ชีวิตที่ดูเหมือนชั่วโมงทำงานจะมากขึ้น ส่งผลให้ชั่วโมงการใส่คอนแทคเลนส์นั้นยาวนานเป็นเงาตามตัวไปด้วย ด้วยเหตุนี้ในการเลือกใส่คอนแคเลนส์แต่ละครั้ง ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยควรเลือกแบบที่ทำมาจาก ซิลิโคน ไฮโดรเจล (silicone hydrogel) ซึ่งจะช่วยให้ออกซิเจนซึมผ่านเข้ามาในกระจกตาได้ดีขึ้น ดวงตาชุ่มชื้น เพราะคอนแทคเลนส์ที่ผลิตจากวัสดุชนิดเก่าปิดกั้นออกซิเจน ซึ่งเมื่อคุณใส่ไปนานๆ จะทำให้ตาแดง ตาบวม การมองเห็นพร่าเบลอ ติดเชื้อได้ง่ายกว่าปรกติ ดวงตาจะแห้ง ไม่สบายตาเนื่องจากออกซิเจนไม่สามารถส่งผ่านถึงกระจกตาได้

เลือกคอนแทคเลนส์ผิด กระจกตาจะชราก่อนวัย
บางคนเอาแต่ห่วงสุขภาพผิวหน้า ผิวกายไม่ให้แก่ก่อนวัย แต่คุณหรือไม่ว่ากระจกตาก็แก่ก่อนวัยได้ ยิ่งผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ยิ่งมีโอกาสกระจกตาก่อนวัยสูงมากกว่าปรกติ อาการเสื่อมของกระจกตานี้ไม่สามารถสังเกตได้จากทางกายภาพด้วย ต้องใช้เครื่องตรวจอย่างเดียว ด้วยตัวคอนแทคเลนส์ ที่ผลิตด้วยวัสดุแบบเดิมนั้นไม่สามารถให้ออกซิเจนผ่านเข้ามาหล่อเลี้ยงกระจกตาในส่วนของเอ็นโดธิเรียมเซลได้มากพอจึงทำให้เซลกระจกตาตายเพิ่มขึ้นในทุกๆ วันที่ใสคอนแทคเลนส์ ส่งผลให้สายตาพร่ามัว และกระจกตาเสื่อมไปในที่สุด ฉะนั้นควรหันมาใส่คอนแทคเลนส์ชนิดซิลิโคน ไฮโดรเจล และพักผ่อนให้ดวงตาได้รับออกซิเจนมากเพียงพอในแต่ละวัน

อย่างที่ทราบกันว่า คอนแทคเลนส์นั้นมีทั้งแบบรายวัน รายเดือน หรือรายสองสัปดาห์ คอนแทคเลนส์รายปี ซึ่งมีให้ผู้บริโภคเลือกตามรูปแบบการใช้ชีวิตและความสะดวกในการใช้งานของแต่ละบุคคล แต่ตามนิสัยคนไทยมักชอบแถม ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดและจะส่งผลให้ดวงตาของคุณได้รับเชื้อไวรัส ตาอักเสบ คัน หรือตาแดง ได้ในที่สุด ควรใส่คอนแทคเลนส์ตามเวลาที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด และทุกครั้งหลังใส่ควรแช่น้ำยาทำความสะอาด ก่อนใส่ทุกครั้งให้ทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อน


เลือกให้เหมาะและใช้งานตามคำแนะนำ
ทุกครั้งก่อนใส่คอนแทคเลนส์ ต้องทำความสะอาดบริเวณรอบๆ ดวงตาให้สะอาด เพราะช่วยลดการติดเชื้อได้

ต้องใส่คอนแทคเลนส์ตามระยะเวลาการใช้งานอย่างเคร่งครัด หลังเลิกใช้ต้องแช่น้ำยาทำความสะอาดเสมอ ถ้ารู้สึกระคายเคืองให้นำออกมาล้างทันที เพราะอาจมีฝุ่นละอองตกค้างได้ ควรใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ดวงตา ห้ามใส่คอนแทคเลนส์นอนเป็นอันขาด ถ้าจะว่ายน้ำให้ใส่แว่นตากันน้ำเสมอ ต้องเลือกคอนแทคเลนส์ให้เหมาะสมตามรูปแบบการใช้ชีวิตของคุณ

ที่มา : TASTE ผู้จัดการรายสัปดาห์ วันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2553

1 ส.ค. 2553

เทคนิคการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์


ขั้นตอนเบื้องต้นในการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ได้แก่ การทำความสะอาด ผู้ใช้ควรปรึกษาจักษุแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเลือกใช้หรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางประเภทไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ หรือไม่เหมาะสมกับคอนแทคเลนส์บางชนิดที่คุณใช้อยู่ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการดูแลคอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้คอนแทคเลนส์ เสียหายหรืออาจเป็นอันตรายต่อดวงตาได้ ขั้นตอนในการดูแลทำความสะอาดคอนแทคเลนส์มีดังนี้

1. ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ทุกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการนำสิ่ง สกปรกหรือเชื้อโรคเข้าสู่ดวงตา ควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของสารบำรุงผิว ซึ่งเป็นคลีมหรือเหลือคราบเวลาล้างออก เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อคอนแทคเลนส์ได้ หลังจากนั้นจึงเช็ดมือให้สะอาดด้วยผ้าหรือกระดาษที่ไม่มีใยตกค้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคืองจากใยดังกล่าวที่อาจติดไปกับคอนแทคเลนส์และ เข้าตาได้

2. นำคอนแทคเลนส์ออกมาจากดวงตาครั้งละ 1 ข้างเพื่อทำความสะอาด การทำความสะอาดจะเป็นการกำจัดสิ่งสกปรกที่ดวงตาหลั่งออกมา เรียกว่าคราบ "โปรตีน" และอาจติดค้างอยู่บนผิวของคอนแทคเลนส์, เครื่องสำอางที่ใช้รอบดวงตา หรือสิ่งไม่พึงประสงค์อื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองเมื่อใส่คอนแทคเลนส์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเลนส์บางประเภทระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ใช้จะต้องถูน้ำยากับเลนส์บนฝ่ามือสักครู่แล้วจึงล้างออก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์บางประเภทผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องถูเลยก็ได้ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาดประจำวัน (Daily Cleaner), น้ำยาอเนกประสงค์ (Multipurpose Solution), ไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ (Hydrogen Peroxide) และน้ำยาที่ใช้ร่วมกับเครื่องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ (Cleaning Disinfecting) อื่น ๆ

3. ทำการชะล้างน้ำยาทำความสะอาดให้หมดไป ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องแน่ใจว่าทำการชะล้างนานพอตามที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าได้กำหนดไว้ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการชะล้างโดยทั่วไปได้แก่ น้ำเกลือ (Saline Solution) และน้ำยาอเนกประสงค์

4. เก็บคอนแทคเลนส์ไว้ในภาชนะบรรจุที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อ (Disinfecting Solution) ที่เหมาะสม น้ำยาฆ่าเชื้อจะทำลายเชื้อโรคต่างๆ ที่ติดอยู่บนคอนแทคเลนส์ ระยะเวลาในการแช่คอนแทคเลนส์ในน้ำยาฆ่าเชื้อดังกล่าวจะแตกต่างกันไปตามผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ซึ่งผู้ใช้สามารถทราบได้จากข้อมูลข้างกล่องที่ผู้ผลิตระบุไว้ น้ำยาฆ่าเชื้อที่นิยมใช้โดยทั่วไปได้แก่ น้ำยาอเนกประสงค์และ Hydrogen Peroxide

5. ทำกระบวนการที่ 1-4 ซ้ำกับคอนแทคเลนส์อีกข้างหนึ่ง

28 ก.ค. 2553

คู่มือการใช้คอนแทคเลนส์

วิธีใช้คอนแทคเลนส์

การเตรียมคอนแทคเลนส์
  1. ล้างมือด้วยสบู่อ่อนๆ แล้วล้างน้ำให้สะอาด
  2. เช็ดมือให้แห้งก่อนจับคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง
  3. วางคอนแทคเลนส์บนปลายนิ้วชี้ข้างที่ถนัด ตรวจดูรูปทรงให้ถูกต้อง
  4. คือขอบเลนส์ตั้งขึ้น(เหมือนขอบถ้วย)

วิธีใส่คอนแทคเลนส์
การใส่คอนแทคเลนส์
  1. วางเลนส์บนปลายนิ้วชี้ข้างที่ถนัด ใช้นิ้วกลางมือข้างที่ถือคอนแทคเลนส์
  2. ดึงเปลือกตาล่างลงแล้วใช้นิ้วกลางมืออีกข้างหนึ่งดึงเปลือกตาบนขึ้น
  3. มองตรงๆ ไปที่กระจก ใช้นิ้วชี้วางคอนแทคเลนส์ตรงกลางกระจกตาเบาๆ
  4. เหลือบตามองด้านล่างแล้วค่อยๆ ปล่อยมือออก
  5. กระพริบตา และหลับตาสักครู่ คอนแทคเลนส์จะเคลื่อนไปอยู่ตรงกลางดวงตาโดยอัตโนมัติ

วิธีใช้คอนแทคเลนส์
การถอดคอนแทคเลนส์
  1. ล้างมือให้สะอาด และเช็ดมือให้แห้ง
  2. มองที่กระจกใช้นิ้วกลางดึงเปลือกตาล่างลง แล้วใช้นิ้วกลางอีกข้างหนึ่งดึงเปลือกตาบนขึ้น
  3. ใช้นิ้วชี้เลื่อนคอนแทคเลนส์ลงมาบริเวณตาขาวส่วนล่าง ค่อยๆ หยิบคอนแทคเลนส์ออกโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ห้ามใช้เล็บเด็ดขาด
  4. ถอดคอนแทคเลนส์ออก แล้วล้างทำความสะอาดทุกครั้งด้วยน้ำยาล้างทำความสะอาด

การล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์
  1. ล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้งก่อนจับคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง
  2. วางคอนแทคเลนส์บนฝ่ามือ หยดน้ำยา 3-4 หยดลงบนคอนแทคเลนส์ ใช้นิ้วถูเบาๆ ทั้งสองด้าน ข้างละ 10 วินาที จนสะอาดหมดคราบสกปรก
  3. ฉีดล้างคอนแทคเลนส์ทั้งสองด้านด้วยน้ำยา เป็นเวลา 5 วินาที
  4. แช่คอนแทคเลนส์ในน้ำยา เพื่อฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อย 4 ชั่วโมงหรือทิ้งไว้ข้ามคืน
  5. ปิดฝาตลับแช่คอนแทคเลนส์ให้เเน่น

ข้อห้ามใช้
  • ห้ามใช้เกินระยะเวลาที่กำหนด
  • ห้ามใส่นอนและว่ายน้ำ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อที่ตาได้
ข้อควรระวัง
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้
  • ไม่ควรใช้และหยุดใช้ทันทีถ้ามีสภาวะผิดปกติของตา
  • ควรเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อในตลับทุกวัน และเปลี่ยนตลับทุก 3 เดือน

24 ก.ค. 2553

7 คำถามควรรู้ก่อนใส่ คอนแทคเลนส์

ใครหลาย ๆ คนที่กำลังตัดสินใจเปลี่ยนจากการใช้แว่นสายตา หันมาใช้คอนแทคเลนส์ รวมทั้งผู้ใส่คอนแทคเลนส์อยู่เป็นประจำ อาจมีข้อสงสัยที่ยังรอคำตอบเกี่ยวกับคอนแทคเลนส์ วันนี้เรามีเรื่องน่ารู้ก่อนตัดสินใจใช้คอนแทคเลนส์จากศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย มาฝากค่ะ


1) คอนแทคเลนส์มีอันตรายต่อดวงตาของผู้ใช้ได้หรือไม่
ตอบ มีแน่นอนค่ะ เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อน ถ้าคิดที่จะใช้ ควรจะได้รับการตรวจดวงตาจากจักษุแพทย์ก่อน เพื่อดูว่ามีโรคตาที่เป็นข้อห้ามในการใช้คอนแทคเลนส์หรือไม่ เลนส์ที่ใช้อยู่เหมาะสมกับดวงตาหรือไม่ เช่น เลนส์นั้นมีความโค้งเข้ากับความโค้งของกระจกตาคุณหรือเปล่า ถ้าคับหรือหลวมไปอาจเป็นอันตรายได้ หรือน้ำตาของคุณมีเพียงพอสำหรับใช้เลนส์ชนิดใด เช่น ถ้าน้ำตาค่อนข้างน้อยควรใช้เลนส์ชนิดแข็ง เป็นต้น

2) คอนแทคเลนส์ชนิดใส่ครั้งเดียวทิ้ง มีคุณสมบัติดีกว่าแบบใส่เป็นปีจริงหรือไม่
ตอบ ไม่เสมอไป การเปลี่ยนบ่อย ๆ ข้อดีคือได้เลนส์ที่สะอาด กำจัดปัญหาที่เกิดจากเลนส์สกปรก เช่น ระคายตา ตาอักเสบ หรือตามัว เลนส์ชนิดนี้เป็นเลนส์ที่ใส่นอนได้ เลยมักเป็นเลนส์ที่อมน้ำมาก หรือบางมาก เพื่อให้ออกซิเจนผ่านไปที่กระจกตาได้ดี ซึ่งจะแห้งเร็วและไม่ค่อยคงรูปในขณะใส่ ทำให้ความชัดของภาพที่เห็นเปลี่ยนแปลงขณะกะพริบตา โดยเฉพาะในรายที่มีสายตาเอียงมาก

3) การใช้คอนแทคเลนส์ จะป้องกันสายตาไม่ให้ผิดปกติเพิ่มขึ้นได้จริงหรือไม่
ตอบ ไม่จริง ยกเว้นบางรายที่ใช้เลนส์ชนิดแข็ง หรือครึ่งแข็งครึ่งนิ่ม (Gas Permeable Lens) สายตาอาจไม่เปลี่ยนแปลงหรือลดลงเล็กน้อยได้ เนื่องจากความโค้งของกระจกตาเปลี่ยนไป

4) คอนแทคเลนส์ทำให้ดวงตาติดเชื้อโรคได้หรือเปล่า
ตอบ คอนแทคเลนส์ที่สกปรก เนื่องจากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องสามารถทำให้ติดเชื้อได้ ดังนั้นก่อนนำไปใช้ทุกครั้งจะต้องแช่เลนส์ไว้ในน้ำยาอย่างน้อย 5-6 ชั่วโมง หรือแช่ทิ้งไว้ตลอดคืนจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ และห้ามนำเลนส์ไปแช่ในน้ำเกลือโดยเด็ดขาด นอกจากนั้นผู้ใช้ควรปิดตลับ และขวดน้ำยาให้เรียบร้อยก่อนที่จะไปล้างมือด้วย สบู่ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน ส่วนตลับใส่เลนส์ควรล้างด้วยสบู่และลวกน้ำร้อนทุกเดือน และควรเปลี่ยนตลับบ่อย ๆ หรือทุก 6 เดือน

5) ถ้าเข้าใกล้เตาไฟร้อน ๆ คอนแทคเลนส์จะละลายได้หรือไม่
ตอบ ไม่

6) จะรู้ได้อย่างไรว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้วหลังจากใส่คอนแทคเลนส์
ตอบ ถ้าใส่เลนส์แล้วมีอาการระคายเคือง เจ็บ น้ำตาไหล ตามัว หรือตาแดง สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้น ต้องหยุดใช้เลนส์ทันที และควรพบจักษุแพทย์โดยด่วน

7) ทำไมบางครั้งเมื่อใส่คอนแทคเลนส์ไปนาน ๆ หรือใส่นอนข้ามคืน จึงเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ
ตอบ ที่เป็นเช่นนั้น เกิดจากการใช้เลนส์นานเกินไป ควรให้จักษุแพทย์ตรวจดูว่าเลนส์นั้นเหมาะกับตาของคุณหรือไม่ หรืออาจเกิดจากกระจกตาบวม เนื่องจากมีออกซิเจนไปถึงกระจกตาไม่เพียงพอ ทั้งนี้เป็นเพราะเลนส์ที่ใช้เป็นชนิดที่ใส่ตอนนอนหลับไม่ได้ แต่คุณยังทำ หรืออาจเกิดจากเลนส์สกปรก หรือเลนส์หมดอายุ

ข้อดีของคอนแทคเลนส์ นอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบายและเสริมบุคลิกที่ดีแล้ว อย่าลืมเติมความใส่ใจให้กับความสะอาดและการดูแลที่ดีอีกสักนิด เพื่อถนอมดวงตาคู่สวยให้อยู่กับคุณตลอดไป

ที่มา : ชีวจิต

22 ก.ค. 2553

เรื่องน่ารู้ : คอนแทคเลนส์เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร ?

ปัจจุบันมีประชากรกว่า 2% จากทั่วโลกที่ใส่คอนแทคเลนส์ หรือคิดเป็นประมาณ 125 ล้านคน (ที่อเมริกา 28-38 ล้านคน และที่ญี่ปุ่น 13 ล้านคน ฯลฯ) โดยเหตุผลที่ใส่ใส่คอนแทคเลนส์ก็มีหลายเหตุผล และหนึ่งในนั้นคือ เพื่อความคล่องตัว เพราะการใส่คอนแทคเลนส์จะทำให้คล่องตัวมากกว่าการสวมแว่นตา เช่น เล่นกีฬา ฯลฯ อีกทั้งในประเทศที่อากาศหนาว คอนแทคเลนส์มีผลกระทบน้อยมากเมื่อเทียบกับการใส่แว่นตา และคอนแทคเลนส์ยังสามารถมองได้ในมุมที่กว้าง เพราะไม่มีกรอบมาจำกัดเหมือนแว่นตา

ที่มาของเจ้าเลนส์จิ๋วมหัศจรรย์ มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ?

ในปี 1887 Adolf Fick ได้ผลิตคอนแทคเลนส์สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยมันถูกทำมาจากกระจกสีน้ำตาล ซึ่งเขาได้รับความรู้เกี่ยวกับดวงตาส่วนคลอเนียมาจากหนังสือ Codex of the eye, Manual D เขียนโดย Leonardo da Vinci

ความรู้เกี่ยวกับกระจกที่ของเหลวสามารถซึมเข้าไปได้และไปติดอยู่ที่คลอเนียได้ René Descartes ใช้กระจกใส แต่ความคิดนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ Thomas Young ก็ได้ทำการทดลองคล้ายๆกันนี้ในปี 1801

ต่อมา Sir John Herschel ได้เสนอความคิดออกมา 2 แบบ คือเรื่องเกี่ยวรูปร่างของคอนแทคเลนส์ ซึ่งควรมีลักษณะเป็นวงกลม และความคิดที่สองคือควรมีลักษณะเหมือนเจล โปร่งใสในระดับปานกลาง ซึ่งแนวความคิดทั้งสองนี้ทำให้ในปี 1929 Hungarian Dr. Dallos สามารถหาวิธีที่ดีที่สุดในการผลิตคอนแทคเลนส์ ซึ่งเขาเป็นคนแรกที่สามารถผลิตคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสำหรับใช้กับดวงตาได้

ปี 1930 ได้มีการนำ polymethyl methacrylate (PMMA หรือ Perspex/Plexiglas) มาใช้ผลิตคอนแทคเลนส์ และมีการพัฒนาต่อมาโดย William Feinbloom ได้ผลิตคอนแทคเลนส์ ด้วยการใช้พลาสติกผสมกับแก้ว ข้อเสียสำคัญของ polymethyl methacrylate คือ ออกซิเจนไม่สามารถผ่านได้ เลนส์ชนิดนี้จะเป็นเลนส์แบบแข็ง ส่วนเลนส์แบบนุ่มถูกสร้างโดย Otto Wichterle ซึ่งสร้างมาจาก เจล ในปี 1959 และในปี 1999 ได้นำ silicone hydrogels มาผลิตทำคอนแทคเลนส์ เพราะเลนส์ชนิดนี้ออกซิเจนสามารถผ่านได้และใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

วิธีเลือกน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ เพิ่มความปลอดภัยให้ดวงตา

ปัจจุบันนี้ น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์มีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ดังนั้นการเลือกใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ชนิดใดก็ควรเลือกด้วยความระมัดระวังและเลือกให้เหมาะกับลักษณะการใช้งาน


เลือกใช้แบบล้าง แช่ และกำจัดคราบโปรตีนในขวดเดียว น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์แบบนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเวลาเข้าตา สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดีพอสมควร ปัญหาที่เกิดมักเกิดจากการที่น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ประเภทนี้ล้างทำคราบโปรตีนติดแน่นได้ไม่ค่อยดีนัก ปัจจุบันมักมีการโฆษณาว่าน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ประเภทนี้ไม่ต้องถูเลนส์ก็ล้างได้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การถูเลนส์ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ เพื่อให้น้ำยาประเภทนี้ใช้งานได้ดี เพียงแต่ต้องค่อยๆถูเบาๆ

ข้อเสีย คือ น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ประเภทนี้มักจะเหลือคราบสกปรกไว้ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ผู้ใช้เกิดการแพ้สารกันเชื้อโรคในน้ำยานั้น น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ประเภทนี้ใช้ได้ดีที่สุดกับคอนแทคประเภทใส่แล้วทิ้ง

เลือกใช้แบบล้าง แช่ และกำจัดคราบโปรตีนแยกขวดกัน น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์พวกนี้ส่วนมากจะล้างได้ดีกว่า สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดีถึงดีมาก มักมียาเม็ดที่ให้แช่ไว้สำหรับล้างคราบโปรตีนทุกๆ เดือน ปกติแล้วน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ชนิดนี้ใช้ได้ดีกับเลนส์ที่ใส่ประจำ เพราะล้างคราบโปรตีนได้ดี

ข้อเสีย คือ อาจมีอาการแพ้จากสารประกอบในน้ำยาได้ไม่ค่อยสะดวก แล้วถ้าล้างน้ำยาล้างออกไม่หมดก็จะทำให้ตาเจ็บ ตาแดง และอาจต้องไปพบแพทย์อีกด้วย

เลือกใช้แบบ Hydrogen Peroxide กลุ่มน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ในรูปแบบนี้มักแยกเป็น 2 ขวด ขวดแรกเป็นน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ก่อนฆ่าเชื้อ ขวดที่สองใช้ใส่ในขวดพิเศษพร้อมกับเลนส์ ส่วนมากอันนี้ต้องแช่ไว้ค้างคืน น้ำยาประเภทนี้ฆ่าเชื้อได้ดีมาก ใช้ได้กับคอนแทคเลนส์เกือบทุกชนิด แต่ไม่ค่อยสะดวกเพราะใช้เวลานานในขั้นตอนต่างๆ และเมื่อแช่คอนแทคเลนส์แล้วเอามาใช้ทันทีไม่ได้ จำเป็นต้องแช่ให้ครบกำหนดเวลา ถ้านำคอนแทคเลนส์ออกมาใส่ก่อนครบกำหนดเวลาก็อาจทำให้ตาเจ็บ ตาแดง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

โปรดจำให้ขึ้นใจว่า ควรให้ความสำคัญกับการเลือกน้ำยาล้างคอนเทคเลนส์ ให้เหมาะกับลักษณะการใช้งานคอนเทคเลนส์ของเราด้วย เพื่อที่ดวงตาของจะได้สวยใสและปลอดภัยไปอีกนาน

16 ก.ค. 2553

4 วิธีใส่คอนแทคเลนส์แบบง่ายๆ

1. เล็บนิ้วชี้และนิ้วโป้งของมือข้างที่ถนัดควรจะตัดสั้นเรียบร้อย เพราะเราต้องใช้ในการใส่คอนแทคเลนส์ถอดคอนแทคเลนส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาถอด ถ้าเล็บยาวตาจะบอดเพราะเล็บตัวคุณเองนั่นแหละค่ะ

2. เริ่มจากการใช้ปลายนิ้วหยิบคอนแทคมาวางบนมืออีกข้าง แล้วหยดน้ำยาคอนแทคเลนส์ลงบนเลนส์ แล้วใช้นิ้วชี้ถูคอนแทคเป็นแนวเส้นตรงกลับไปมา

3. วางคอนแทคเลนส์บนปลายนิ้วชี้ข้างที่ถนัด ใช้มืออีกข้างเปิดเปลือกตาไว้ แล้วเอาคอนแทคเลนส์แตะลงไปบนตา หลับตาแล้วใช้นิ้วมือนวดเปลือกตาเบาๆ เพื่อให้คอนแทคเลนส์เข้าที่

4. ถ้าใส่แล้วเกิดอาการเคือง ถ้าเคืองเกิน 5-10 วิ คิดว่ามันไม่ปกติ ถอดออกมาล้างแล้วใส่ใหม่นะคะ อย่าทนเพราะดวงตาอาจจะบาดเจ็บได้

การใช้คอนแทคเลนส์ เพื่อสุขภาพตาที่ดี

1. คอนแทคเลนส์สี ตาโต  หรือตาหวาน (Bigeye) ส่วนใหญ่จะหนากว่าคอนแทคเลนส์ใสธรรมดา ทำให้มีโอกาสเคืองตามากกว่า

2. โดยส่วนใหญ่แล้วคอนแทคเลนส์มักจะทนพอสมควร การขยี้ตาแล้วขาดนั้น ถ้านานๆ เป็นสักครั้งอาจไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ เราแนะนำว่าควรถอดคอนแทคเลนส์ก่อนขยี้ตา หรืออาจพยายามลดแรงให้เป็นลักษณะของการคลึงเปลือกตาให้น้ำตาไหลออกมาจะดีกว่า เนื่องจากคอนแทคเลนส์ที่ขาดบางส่วน(แหว่ง) หรือคอนแทคเลนส์ที่ขาดครึ่งจะเกิดส่วนคมขึ้นและอาจเป็นอันตรายกับดวงตาได้


3. ตาแห้ง กับเคืองตา ก็เช่นกัน วันหนึ่งเป็นเล็กน้อยสัก 2-3 ครั้ง ก็ไม่ถือว่าผิดปรกติ แต่ถ้าเป็นบ่อยๆ เช่นต้องหยอดตาวันละหลายๆ ครั้ง หรือเกิดอาการตาอักเสบอยู่เป็นประจำ แนะนำว่าบางครั้งอาจเกิดจากน้ำตาของเราไม่เพียงพอ จึงทำให้ตาแห้ง และเคืองบ่อยๆ เพื่อความสบายใจ แนะนำให้ไปที่คลีนิคหรือโรงพยาบาล เพื่อเช็คให้ละเอียดว่าตาของคุณเหมาะสมกับการใช้คอนแทคเลนส์หรือไม่ เพราะบางคนมีปัญหาน้ำตาน้อยทำให้ไม่เหมาะกับการใช้คอนแทคเลนส์ การใช้แว่นจะเหมาะสมกว่า

4. การใส่นานนั้น ปรกติแล้วคอนแทคเลนส์ มีระยะที่แนะนำให้ใช้งานอยู่ในช่วง 12 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าใช้เกินกว่านี้ ในบางคนจะมีปัญหาเรื่องเคืองตา หรือตาแห้ง ถ้าเป็นบ่อยในชั่วโมงหลังๆ เช่นหลังใส่ไปแล้ว 8-10 ชั่วโมง เราแนะนำให้ถอดคอนแทคเลนส์ออก แล้วใส่แว่นแทนจะดีกับดวงตามากกว่า แต่ถ้าในช่วงระหว่าง 12 ชั่วโมงแรก มีอาการตาแห้ง และไม่สบายใจเรื่องความสะอาดของน้ำตาเทียม ขอแนะนำให้ใช้แบบใช้แล้วทิ้ง เช่นของ TEARS NATURALE FREE [32 RECLOSABLE VIALS] (เทียส์ แนทูราล ฟรี (32 หลอด)) ของ Alcon หรือ Cellufresh [30 Sterile Single-Use Containers] 0.4 mL each ของ Allergan (นำเข้าโดยบริษัท Maxim) ซึ่งเป็นน้ำตาเทียมแบบหลอดเล็กๆแกะใช้เมื่อตาแห้ง เก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 วันหลังแกะใช้

5. คอนแทคเลนส์ยี่ห้อเดิม ถ้าใส่ดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยี่ห้อค่ะ นอกจากอาจลองเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างเช่นตาแห้งง่าย (แนะนำให้ทดลองใช้พวกซิลิโคนไฮโดรเจล เช่น O2 Optix หรือ Acuvue Advance) ซึ่งยอมรับว่าอาจเกิดปัญหาอื่นแทน อันนี้ก็แล้วแต่การตัดสินใจของผู้ใช้แต่ละท่านค่ะ

6. ห้ามใส่คอนแทคเลนส์นอนโดยเด็ดขาด เนื่องจากโดยปรกติแล้วดวงตาจะได้รับออกซิเจนผ่านทางน้ำตา การใส่คอนแทคเลนส์นอนจะทำให้กีดขวางการไหลเวียนของน้ำตาภายในดวงตา จึงทำให้บริเวณกระจกตาได้รับออกซิเจนน้อยลง จึงส่งผลให้ดวงตาขาดออกซิเจนได้ (ในรายที่เป็นมาก อาจเกิดเส้นเลือดขึ้นภายในกระจกตาได้)

7. ควรล้างคอนแทคเลนส์ทุกวัน และควรถูคอนแทคเลนส์ด้วยปลายนิ้วด้วย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ (น้ำยาล้างคราบโปรตีน)หลายชนิดระบุว่าไม่จำเป็นต้องถูก็ตาม เพราะจากการวิจัยพบว่าการถูคอนแทคเลนส์จะช่วยลดการเกาะตัวของคราบโปรตีนและไขมันได้มากถึง 90-95% จึงช่วยให้คอนแทคเลนส์มีความใสและสบายตามากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดโอกาสที่จะติดเชื้อภายในดวงตาได้อีกด้วย

8. ถ้ารู้สึกผิดปรกติกับดวงตา ให้หยุดการใส่คอนแทคเลนส์โดยทันที เพราะถ้าดวงตาอักเสบหรือเกิดการติดเชื้อขึ้นภายในดวงตาการใส่คอนแทคเลนส์จะทำให้อาการผิดปรกติมากขึ้น และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ แต่ถ้าหลังหยุดพักการใส่คอนแทคเลนส์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์โดยทันที

29 พ.ค. 2553

ภาวะการแพ้ Contact Lens (GPC)

ภาวะ การแพ้ Contact Lens มีชื่อทางการแพทย์ว่าโรค GPC ย่อมาจาก Giant Papillary Conjunctivitis ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับดวงตา พบในผู้ที่ใส่ Contact Lens ชนิดถาวร หรือเลนส์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 30 วัน (Permanent lenses) โดยอาการแพ้ดังกล่าวเกิดจากคอนแทคเลนส์สกปรก มีคราบโปรตีนที่ล้างไม่หมดเกาะอยู่ คราบโปรตีนเหล่านั้นเป็นส่วนประกอบของน้ำตาธรรมชาติ ที่เมื่อสะสมรวมกับสารภายนอก เช่น ฝุ่นละออง เครื่องสำอาง จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาขึ้นได้

ผู้ที่เป็นโรค GPC จะมีอาการคันตา ระคายเคือง มีขี้ตาเป็นเมือกขาว ตาแดงเรื่อๆ และไม่สบายตาเท่ากับช่วงที่ใส่คอนแทคเลนส์ใหม่ๆ นอกจากนี้บางครั้งคอนแทคเลนส์อาจเลื่อนหลุดได้ง่ายอีกด้วย เมื่อจักษุแพทย์ทำการตรวจดวงตาของผู้ที่เป็น GPC ด้วยกล้องขยายพิเศษสำหรับตรวจตา (Slit lamp) จะพบมีเม็ดเล็กๆ (Papilla) ที่เยื่อบุตาบริเวณด้านในของเปลือกตา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อเกิดภูมิแพ้ที่ดวงตา
อาการแพ้ในโรค GPC อาจรักษาให้หายได้โดยการพบจักษุแพทย์ แพทย์จะแนะนำให้หยุดใส่คอนแทคเลนส์ไว้ชั่วคราวก่อน และให้ยาแก้แพ้มาหยอดตา แต่เมื่อกลับมาใส่คอนแทคเลนส์อีกก็อาจกลับเป็นขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆ ถ้าคุณยังปฏิบัติตัวเหมือนเดิม ดังนั้นคุณจึงควรแก้ไขที่สาเหตุ คือ กำจัดความสกปรกของ Contact Lens อย่างสม่ำเสมอให้ถูกต้อง โดยการชะล้างคราบโปรตีน ไขมัน และฝุ่นละอองต่างๆ ที่เกาะอยู่ออกให้หมด หรือเปลี่ยนไปใช้คอนแทคเลนส์ชนิดเปลี่ยนทุก 2-4 สัปดาห์ (Disposable lenses)

สารทำความสะอาดที่มีอยู่ในน้ำยา อเนกประสงค์ทุกชนิดที่มีขายในท้องตลาด สามารถทำความสะอาดคราบไขมัน เยื่อเมือก และโปรตีนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ในการขจัดคราบโปรตีนสะสมจำเป็นต้องใช้เอ็นไซม์โปรตีเนส (Proteinase) ในการย่อยสลายโปรตีน จึงจะสามารถขจัดคราบโปรตีนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ โดยตัวเอนไซม์เองจะเป็นชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุตา

ในน้ำยาทำความสะอาด Contact Lens แบบ อเนกประสงค์ทุกชนิดที่มีขายในท้องตลาดนั้น ไม่มีส่วนประกอบของเอ็นไซม์โปรตีเนส เพื่อใช้ในการย่อยสลายคราบโปรตีนสะสมดังกล่าว เนื่องจากเอ็นไซม์นี้จะไม่คงตัวในสารละลายที่มีปริมาตรมากๆ สารประกอบส่วนหลักๆ ในน้ำยาอเนกประสงค์ คือ

- สารฆ่าเชื้อโรค ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี บางชนิดสามารถฆ่าเชื้อรา และเชื้ออะแคนทามีบา (Acanthamoeba) ได้ด้วย
- สารทำความสะอาด ส่วนที่มีคุณสมบัติเป็นสบู่ ใช้ขจัดคราบไขมัน เยื่อเมือกได้ และอีกส่วนที่เป็นสารขจัดคราบโปรตีน ออกฤทธิ์ด้วยกลไกที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด แต่ไม่ใช่เอนไซม์โปรตีเนส

การใช้น้ำยาอเนกประสงค์เพียงขวด เดียว จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ใช้ Contact Lens แบบชั่วคราวไม่เกิน 30 วัน ถ้าใช้เลนส์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 30 วัน หรือเลนส์ถาวร การสะสมของสิ่งสกปรกบนผิว Contact Lens จะมากเกินกว่าที่จะสามารถขจัดออกได้ ด้วย สารขจัดคราบโปรตีนที่มีอยู่ในน้ำยาอเนกประสงค์ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องใช้เอ็นไซม์ร่วมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นยาเม็ดเอ็นไซม์ละลายในน้ำยาล้างเลนส์ หรือเป็นเอ็นไซม์แบบน้ำยาสำเร็จรูปก็ได้ เพื่อให้ Contact Lens ของคุณสะอาด จะได้ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ Contact Lens


ข้อมูลจาก : http://www.freeforworld.com/index.php/33

16 พ.ค. 2553

วิธีการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์



วิธีการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์

สำหรับคนสายตาผิดปกติคงต้องขอบคุณผู้ผลิตคิดค้น คอนแทคเลนส์ เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาสายตาให้มองเห็นได้ดีขึ้นแล้ว โดยเข้ามาแทนที่การใช้แว่นสายตาที่บางคนไม่ชอบเพราะบดบังความงามของตาคู่งาม หรือใบหน้าสวยของตัวเอง ใส่คอนแทคเลนส์ดูเป็นธรรมชาติกว่าเป็นไหนๆ แต่คงยังต้องยอมรับว่าแว่นสายตายังครองอันดับหนึ่ง ของอุปกรณ์แก้ปัญหาสายตาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอยู่

เลนส์สัมผัส หรือที่มักเรียกกันติดปากทับศัพท์ว่า คอนแทคเลนส์ นั้นเป็นแผ่นพลาสติกที่ได้รับการขัดเกลาหรือหล่อให้เป็นแผ่นกลมรูปร่าง คล้ายกระทะที่มีขนาดเหมาะสมกับตาดำ นำมาวางปะหน้าตาดำอาศัยน้ำตา ที่ฉาบอยู่บนผิวหน้าของตาดำเป็นตัวยึดเลนส์สัมผัสให้ติดกับดวงตา ด้วยเหตุที่คอนแทคเลนส์จะต้องสัมผัสกับตาดำเราตลอดเวลา การดูแลรักษาที่ดีนอกจากให้มองเห็นชัดเจนแล้ว ตัวคอนแทคเลนส์ก็จะมีอายุการใช้งานได้นานขึ้น และที่สำคัญผู้ใช้ปลอดภัยปราศจากการติดเชื้อ

โดยทั่วไปคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มจะดูดซับสิ่งสกปรกจากสิ่งแวดล้อม และสารต่างๆ ที่มีอยู่ในตา ได้แก่ น้ำเมือก น้ำมัน และโปรตีน ตลอดจนสารเคมีจากเครื่องสำอางเอาไว้ สิ่งสกปรกเหล่านี้จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คุณลักษณะที่ดีของคอนแทคเลนส์เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความใสสะอาด ผิวเรียบ มีความโค้งสม่ำเสมอ ฯลฯ ซึ่งความโค้งที่เปลี่ยนไปอาจทำให้เลนส์ที่เคยใช้ได้พอดีกลับกลายเป็นคับหรือหลวมไป หรือใส่ไม่สบายก็ได้ คอนแทคเลนส์ที่เคยใสกลับหมองไปทำให้มองภาพไม่ชัด ผิวที่เคยเรียบบากเป็นรอย ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองทั้งหมดอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นเหนือสิ่งอื่นใดคุณควรคำนึงถึงสุขอนามัยของดวงตาเป็นอย่างแรก เพราะดวงตาถ้าเป็นอะไรไปแล้วก็ยากแก่การทดแทนใหม่ได้ จึงอย่าขี้เกียจที่จะทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นเรื่องจำเป็น เรามีวิธีการดูแลรักษาคอนแทกเลนส์มาฝากเป็นขั้นเป็นตอนให้คุณปฏิบัติได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น
  1. การล้างทำความสะอาด (cleaning) โดยใช้น้ำยาเพื่อทำความสะอาด ตัวน้ำยาประกอบด้วยสารซึ่งทำหน้าที่คล้ายผงซักฟอก โดยน้ำยานี้จะจับกับสิ่งสกปรกตลอดจนเชื้อโรคให้หลุดออกจากผิวคอนแทคเลนส์ เชื่อกันว่าวิธีนี้สามารถขจัดเชื้อโรคออกไปได้ถึง 90%
  2. การชะล้าง (rinsing) ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำเกลือพิเศษที่มีสารกันเสียอยู่ด้วย หรือ ใช้น้ำยาดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ (ใช้น้ำเกลือทั่วๆ ไปแทนไม่ได้) เป็นการใช้น้ำยาเพื่อชะล้างสิ่งสกปรก
  3. การฆ่าเชื้อโรค (disinfecting) ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคที่เหลืออยู่อีก 0.1% ขบวนการนี้อาจจะใช้ความร้อนหรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ การใช้ความร้อน ได้ผลดีกับเชื้อโรคทุกชนิดโดยเฉพาะเชื้อ HIV โดยใช้ความร้อน 80 องศาเซลเซียส เวลา 10 นาที โดยทั่วไปที่มีขายจะทำเป็นยูนิตสำเร็จรูปเสียบเข้ากับปลั๊กไฟฟ้า ใช้เวลาประมาณ 45นาที เครื่องจะดีดกลับเองเมื่อเสร็จสิ้นขบวนการ วิธีนี้สะดวกปลอดภัย แต่มีข้อเสียตรงที่คอนแทคเลนส์อาจจะเสียเร็ว และเปลี่ยนสีได้ ส่วนการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นวิธีที่สะดวก ใช้ง่าย เพียงแช่คอนแทคเลนส์ในน้ำยาตามเวลาที่กำหนด แต่มีข้อเสียคือราคาแพง บางคนอาจแพ้ทำให้เกิดอาการคันตา ตาแดง โดยเฉพาะผู้ที่ทำความสะอาดเลนส์ไม่ตามขั้นตอน เช่น ไม่ทำความสะอาดก่อน ซึ่งไม่ควรลืมว่าหลังแช่น้ำยาแล้วต้องเทน้ำยาที่ใช้แล้วทิ้งไปเสมออย่าเสียดาย ถ้าไม่เปลี่ยนน้ำยาในคราวต่อไป ก็มีโอกาสมากที่จะเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค ขบวนการ oxidative โดยใช้ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ซึ่งมีความเข้มข้น 0.6% -3% ข้อดีของวิธีนี้คือ สารตัวนี้สามารถ ฆ่าเชื้อโรคได้มากตัว แต่มีข้อเสียคือราคาแพงและต้องล้างด้วยน้ำยาอีกชนิดหนึ่ง ถ้าล้างด้วยไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ออกไม่หมดจะมีจะมีอาการแสบและเคืองตามาก ขั้นตอนของการฆ่าเชื้อวิธีนี้จึงต้องมี 2 ขั้นซึ่งยุ่งยากมาก และห้ามนำมาใช้กับเลนส์เพราะความเข้มข้นไม่แน่นอน มีโลหะหนักบางชนิดเจือปน ใช้แล้วทำให้เลนส์เปลี่ยนสีได้
  4. การใช้ Enzyme หรือที่เรียกกันว่าน้ำยาล้างคราบโปรตีน* เป็นน้ำยาที่ช่วยขจัดคราบโปรตีนที่เกาะติดอยู่ในคอนแทคเลนส์ ควรทำความสะอาดสัปดาห์ละครั้ง ถือเป็นการขัดและทำความสะอาดใหญ่ มักจะทำเป็นรูปยาเม็ด ซึ่งต้องแช่ในน้ำเกลือ (ไม่ใช่น้ำกลั่น) หรือน้ำยาคอนแทคเลนส์ที่กำหนดไว้ หลังจากแช่แล้วควรล้างคอนแทคเลนส์อีกครั้งด้วยน้ำยาดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ สำหรับผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์บิ๊กอาย (Big Eye) ควรใช้น้ำยาล้างคราบโปรตีน 1-2 หยด ร่วมกับน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ของคุณ แช่เอาไว้ในตลับประมาณ 24 ชม. และนำออกมาล้างด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์อีกครั้ง ก่อนนำมาสวมใส่ ทำอย่างนี้เป็นประจำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จะช่วยรักษาคอนแทคเลนส์ของคุณให้สวมใส่ได้สบายตา ปลอดภัย และยาวนานมากขึ้น หากดูแลอย่างถูกวิธี
  5. น้ำยาหล่อลื่น (lubricating and Rewetting) โดยปกติผู้ใช้คอนแทกเลนส์มักจะมีตาแห้งง่ายกว่าคนปกติ ทำให้มีอาการระคายเคือง น้ำยานี้จะช่วยให้ตาชุ่มชื้นยิ่งขึ้น ในปัจจุบันนี้มีน้ำยาบางชนิดทำมาเป็นแบบสำเร็จรูปทั้ง 5 ขบวนการแรกในน้ำยาตัวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการใช้ แต่การดูแลคอนแทคเลนส์ ต้องทำตามลำดับขั้นให้ครบถ้วน คอนแทคเลนส์ก็จะอยู่ในสภาพสะอาด ปลอดภัย สำหรับผู้ใช้จะข้ามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไม่ได้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ใช้คอนแทคเลนส์ทุกวัน ควรเปลี่ยนน้ำยาทุกวันหรืออย่างน้อยต้องทำขบวนการฆ่าเชื้อ (ขบวนการที่ 3) ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาใส่
  6. การดูแลตลับใส่เลนส์ มีผู้ใช้คอนแทกเลนส์จำนวนมากที่ป่วยเพราะเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในตลับใส่เลนส์ การดูแลตลับใส่เลนส์จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งควรล้างทุกวันด้วยน้ำยาที่ใช้ดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ให้สะอาด ปล่อยให้แห้ง ควรขัดตลับใส่คอนแทคเลนส์สัปดาห์ละครั้งด้วยน้ำยาที่ดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ ทิ้งไว้ให้แห้ง หรือเปลี่ยนตลับใหม่ทุกๆ 6 เดือน

ขอเตือนว่า ผลแทรกซ้อนจากการใช้คอนแทคเลนส์ บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียสายตาอย่างถาวรก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างคาดไม่ถึง โดยที่ส่วนใหญ่ต้นเหตุเกิดจากการละเลยที่จะดูแลคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้อง จากนี้ไปเพื่อความปลอดภัยของดวงตาคุณเองควรเคร่งครัด กับการดูแลรักษาทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ตามขั้นตอนที่กล่าวมา แรก ๆ อาจรู้สึกยุ่งยากสักนิดแต่ถ้าคุณทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่นานก็จะชินถนอมทั้งดวงตาและคอนแทคเลนส์ให้ใช้ได้นาน ๆ ไงคะ

ที่มา : นิตยสาร Health Today


บทความที่เกี่ยวข้อง

14 พ.ค. 2553

ข้อเสีย - ข้อแนะนำในการใช้คอนแทคเลนส์

ข้อเสีย ของการใช้ คอนแทคเลนส์
  1. ใส่นานๆจะระคายเคืองกับดวงตา ทำให้ชอบเผลอ ขยี้ตา หลุดบ่อยมากตอนใส่แรกๆ
  2. ใส่แล้วดวงตา โดนลมนานๆก็ไม่ได้ ดวงตาจะแห้ง
  3. เปลืองถ้าเทียบกับแว่นในระยะยาว เพราะต้องมีน้ำยาล้างและอื่นๆอีกมาก

ต่อไปเป็นข้อแนะนำในการใช้คอนแทคเลนส์
  1. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ในที่ๆมีลมแรงๆโดยไม่มีแว่นกันลม เพราะ ฝุ่นจะเข้าตา และทำให้ระคายเคือง
  2. ถ้ามีโอกาสถอดคอนแทคเลนส์บ่อยเท่าไร ยิ่งดี เพื่อให้ดวงตาได้พัก
  3. ไม่ควรใส่ทั้งวันและทั้งคืน หรือใส่นอน เพราะจะทำให้ดวงตาคุณแย่ลง เพราะเรื่องเชื้อโรค
  4. ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเงินและต้องการรักษาสุขภาพดวงตา ควรซื้อแบบรายวัน เพื่อลดสิ่งสะสมของคอนแทคเลนส์ เช่นฝุ่น หรือพวกโปรตีน
  5. มั่นล้างทำความสะอาด คอนแทคเลนส์ของท่านอย่างสมำเสมอ บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้
  6. น้ำยายี้ห้อไหนที่ใช้แล้วรู้สึกระคายเคืองให้ทำการเปลี่ยนยี้ห้อทันที
  7. อย่าเผลอใส่คอนแทคเลนส์ลงว่ายน้ำโดยเด็ดขาด
  8. ถ้าคอนแทคเลนส์หลุด ห้ามใช้น้ำประปาในการใส่คอนแทคเลนส์โดยเด็ดขาด เพราะ เมื่อนำมาใส่จะทำให้ตาแสบตาได้

เคล็บไม่ลับสำหรับการดูแลคอนแทคเลนส์ที่รัก

การใช้คอนแทคเลนส์นั้น ไม่ได้ยากเย็นและอันตรายอย่างที่คิดกัน แต่ถ้าจะไม่พูดถึงการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์บ้าง มันก็จะดูไม่สมบูรณ์อย่างไรไม่รู้ เพราะคอนแทคเลนส์นั้น ถึงแม้จะเป็นแบบรายเดือนคือมีอายุแค่ 30 วัน แล้วก็จะต้องทิ้งไป แต่การดูแล ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาดเลยจริง ๆ เนื่องจากอุปกรณ์ชิ้นนี้ ต้องสัมผัสกับอวัยวะ ที่สำคัญและบอบบางที่สุดของเรา ในการทำหน้าที่ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการมองเห็นได้แจ่มชัดขึ้น สำหรับสาวๆที่มีปัญหาทางสายตา ฉะนั้นถ้าเราไม่เอาใจใส่มันด ดีๆ แล้วละก็ ดวงตาอันล้ำค่าของสาวๆ ก็จะประสบเคราะห์ซ้ำกรรมซัดได้ ซึ่งคราวนี้ นอกจากจะมองไม่ชัดแล้ว อาจจะลุกลามไปยังปัญหาดวงตาอื่นๆอีกได้

เพื่อความปลอดภัย และความสบายตา การดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ จึงป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกครั้งที่ถอดคอนแทคเลนส์ ควรทำความสะอาด ล้างและแช่ เพื่อฆ่าเชื้อโรค ด้วยผลิตภัณฑ์ดูแลรักษา คอนแทคเลนส์โดยเฉพาะ เช่น น้ำยาดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ ReNu MultiPlus ™

การเลือกใช้คอนแทคเลนส์ ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับบุคลิกภาพและความต้องการ

การเลือกใช้คอนแทคเลนส์ ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับตนเองนั้น เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากคอนแทคเลนส์ มีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น คอนแทคเลนส์รายปี คอนแทคเลนส์รายวัน คอนแทคเลนส์รายเดือน หรือ คอนแทคเลนส์รายสัปดาห์ อีกทั้งยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของ วัถุดิบที่ใช้ผลิต เรื่องของ ความโค้ง และขนาดเลนส์ โดยในที่นี้เราจะพูดถึงเฉพาะ Soft Contactlens เนื่องจาก ปัจจุบัน เลนส์ Hard, RGP ไม่เป็นที่นิยมแล้ว

คอนแทคเลนส์ หรือ เลนส์สัมผัส

เลนส์สัมผัสหรือที่เราเรียกกันทับศัพท์ง่ายๆ ว่า คอนแทคเลนส์นั้น เป็นวิวัฒนาการทางจักษุวิทยาที่นำมาใช้แทนแว่นตา ช่วยแก้ปัญหาและขจัดความรำคาญของการใช้แว่นตา เสริมสร้างบุคลิกให้ผู้ที่มีสายตาผิดปกติให้มีความสวยงามเหมือนธรรมชาติ ไม่มีร่องรอยของแว่นตา และทำให้การมองเห็นภาพได้ชัดเจน เสมือนตาปกติโดยไม่ต้องใช้แว่นตา บางครั้งทำให้สะดวกและปลอดภัยในขณะที่เล่นกีฬาแทนการใส่แว่นตา

เลนส์สัมผัส แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
  1. คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง หรือ Hard Contact Lens เป็นเลนส์ที่ทำด้วยพลาสติกแข็งน้ำซึมผ่านไม่ได้เลย
  2. เลนส์ชนิดนิ่ม เป็นเลนส์ที่ทำด้วยพลาสติกที่สามารถอมน้ำได้ ตั้งแต่ 35 ถึง 65 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้นิ่มมีรูเล็กๆ และน้ำซึมผ่านได้ ช่วยให้ออกซิเจนสามารถละลายผ่านเข้าไปถึงกระจกตาได้สะดวกขึ้น แต่ก็มีผลเลียที่เลนส์ชนิดนี้ จะจับเอาโปรตีน เยื่อเมือก เกลือแร่ และอนุภาคต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำตาเข้าไว้ในตัวเลนส์ ทำให้เลนส์สกปรกง่าย เป็นฝ้า ชำรุดเกิดอาการแพ้และระคายเคืองตาได้ จึงต้องคอยระวังรักษาอย่างดี หมั่นทำความสะอาดโดยการใช้ระบบความร้อนทำความสะอาด หรือใช้น้ำยาแช่ทำความสะอาดแทนความร้อน

การเลือกซื้อคอนแทคเลนส์
คนเราแต่ละคน แตกต่างกัน บางคน ตาโต บางคนตาเล็ก ตาโปน ตาลึก ไม่เหมือนกัน คอนแทคเลนส์ที่ดีควร พอดีกับตาคนคนนั้น ทั้ง สายตา และกระชับตาดี

เลนส์ที่กำลังสายตาพอดี จะทำให้ท่านเห็นได้ชัดเจน สบายตา ไม่ต้องเพ่ง แต่ถ้าใส่เลนส์แล้วรู้สึกว่า เดี๋ยวชัดเดี๋ยวไม่ชัด แสดงว่า เลนส์ชิ้นนั้นไม่กระชับพอดีตา ลองทดลองด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ถ้าท่านใส่เลนส์อยู่ให้หลับตาลง เมื่อลืมตาขึ้น ถ้าภาพมัวแล้วค่อยๆ ชัดขึ้น ก็แสดงว่าเลนส์ที่ใส่อยู่นั้น หลวมเกินไป แต่ในทางกลับกัน ถ้าลืมตาขึ้น ภาพคมชัด แล้วค่อยๆ มัวลง ต้องกระพริบตาบ่อยๆ ถึงชัดขึ้น มักเกิดจากเลนส์คับเกินไป อาจต้องใช้เลนส์ที่หลวมกว่านั้น โดยส่วนมากผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจว่า Contact Lens เป็น Free Size


การเริ่มต้นใช้เลนส์อย่างถูกวิธี
  1. ควรบอกจักษุแพทย์ เป็นผู้เลือกเลนส์ที่น่าจะเหมาะสมกับคุณ
  2. บอกความต้องการของคุณให้ชัดเจนว่า ต้องการใช้เลนส์อะไร เอาเลนส์นิ่มหรือแข็ง อยากให้ชัดมากๆ หรือเอาสบายๆ เข้าไว้
  3. อยากใส่เลนส์ทุกวันหรือเฉพาะวัน
  4. เอาแบบเปลี่ยนรายวัน หรือเอาแบบประหยัด
  5. ถ้าคุณเป็นคนแพ้ง่าย ก็บอกไปด้วย
  6. งานอาชีพของคุณ ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ เป็นพนักงานบนเครื่องบิน เป็นศัลยแพทย์ มีข้อพิจารณา ข้อระวังในการ เลือกเลนส์เหมือนกัน

คุณหมอจะให้คุณลองคอนแทคเลนส์ที่เลือกไว้ ประเมินผลเบื้องต้นถ้าพอดี ก็ให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันสัก 2-3 วัน แล้วนัดกลับมาตรวจอีกครั้งให้แน่ใจว่าเลนส์พอดี แต่พอไปใส่ทำงาน เมื่อตาแห้งเลนส์หลวมลง เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยคุณควรขอใบ Prescription จากคุณหมอ เพื่อสั่งซื้อเลนส์ในคราวต่อๆ ไป ซึ่งอาจซื้อตามร้านค้า หรือเดี๋ยวนี้สั้งทำทาง Internet ก็ได้


เมื่อได้เลนส์มา ควรตรวจสอบที่ข้างกล่องว่า ตรงกับใน Prescrition หรือไม่ ซึ่งประกอบด้วย
  • Lens Power สั้นยาว เอียง เท่าไร
  • Base Curve ซึ่งย่อว่า B.C. หมายถึง ความคับหลวมของเลนส์
  • Diameter หรืเส้นผ่านศูนย์กลาง

เลนส์ต่างยี่ห้อที่กำลังเท่ากัน มี Base curve เท่ากัน อาจจะใส่ไม่พอดีเหมือนเดิม ถ้าใส่เลนส์อะไรพอดีแล้ว ควรใช้แบบเดิมตลอด ไม่ควรเปลี่ยนบ่อยๆ หลายคนใช้คอนแทคเลนส์ไปเรื่อยๆ โดยไม่เคยมาพบแพทย์เลย ลองคิดดูนะคะ การใช้คอนแทคเลนส์ต้องเสียเงินอย่างต่ำ ปีละ 4- 5 พันบาทอยู่แล้ว แถมการใช้ที่ไม่ถูกต้องยังเสี่ยงกับสุขภาพตาได้ การให้คุณหมอช่วยเลือกเลนส์ให้ คุณจะมั่นใจว่า คุณจะใช้เงินของคุณอย่างคุ้มค่า ได้ดวงตาที่มีสุขภาพ


ข้อสำคัญ
  1. ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนใส่หรือถอดเลนส์
  2. อย่าใช้ยาหยอดตาทุกชนิดขณะใส่เลนส์
  3. ควรถอดเลนส์ก่อนนอนทุกคืน (อันนี้สำคัญมาก)
  4. อย่าใส่เลนส์ขณะตาอักเสบ หรือถ้ามีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด

ระวังคอนแทคเลนส์ปลอม

วัยรุ่นกับแฟชั่น นับว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาโดยตลอด มีการหมุนเวียนเปลี่ยนกระแสนิยมในเรื่องการแต่งกายไปเรื่อย ๆ และที่เริ่มได้รับความนิยมล่าสุดก็คือ คอนแทคเลนส์ตาโต หรือที่เรียกว่า “บิ๊กอาย” ที่ทำให้ตาโตเหมือนสาวเกาหลี ญี่ปุ่น ประกอบกับมีให้เลือกหลากหลายสี เช่น สีฟ้า สีเขียว สีน้ำตาล หรือมีลายประกายสีม่วง สีเทา ซึ่งจะทำให้ดวงตาดูแปลกไปจากเดิม

คอนแทคเลนส์เหล่านี้ มิได้มีขายแต่ในร้านขายแว่นตาหรือร้านขายยาเท่านั้น เพราะตามแผงลอย แผงแบกะดินก็มีวางขายเช่นกัน นอกจากนั้นยังเสนอขายในราคาที่เย้ายวนให้ตัดสินใจซื้อ เพราะมีราคาที่ถูกกว่าในร้าน จึงเป็นเหตุให้มีของเลียนแบบหรือคอนแทคเลนส์ปลอมเกิดขึ้น

สิ่งที่น่ากังวลก็คือความปลอดภัยต่อการนำไปใช้ เพราะหากเป็นคอนแทคเลนส์ปลอม หรือของเลียนแบบ อาจมีคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นอันตรายต่อลูกตาและเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากโรคต่าง ๆ จนอาจถึงขั้นทำให้ตาบอดได้

ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับแหล่ง ร้านค้าที่จำหน่าย โดยเลือกซื้อจากร้านที่มีความน่าเชื่อถือและไว้ใจได้ หรือหมั่นตรวจสอบทุกครั้งว่าคอนแทคเลนส์ที่เลือกซื้อมีการบรรจุอย่างเรียบ ร้อยและมีฉลากกำกับที่ครบถ้วนถูกต้อง แล้วจึงค่อยตัดสินใจวื้อ อย่าให้เป็น “คนซื้อสวย คนขายหลอก แต่สุดท้ายกลับแย่”

ความเหมาะสมของบุคคลต่างๆ กับการใช้คอนแทคเลนส์

ผู้ที่เหมาะจะใส่คอนแทคเลนส์
1. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตาดังนี้
  • สายตาสั้น
  • สายตายาว
  • สายตาเอียง
  • สายตาคนสูงอายุ
2. ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดต้อกระจกทั้งชนิด ข้างเดียวหรือ 2 ข้าง
3. ผู้ที่มีอาการตาสั่น (nystagmus) และควรแนะนำเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม
4. ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวเป็นอุปสรรค
5. ผู้ที่มีกระจกตาโค้งมากกว่าปกติ (Keratoconus) เช่น 6.9, 5.4 และกระจกตาบางมาก ควรแนะนำเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (HCL)
6. ผู้ที่เป็น "TRICHIASIS" คือมีความผิดปกติของขนตาที่งอนเข้าไปแยงกระจกตา เป็นสาเหตุทำให้น้ำตาไหล แก้ไขได้โดยใส่คอนแทคเลนส์ขนิดนิ่ม (SCL)
7.ผู้ที่เป็น "ENTROPION" คือขอบตาเปิดเข้าด้านในมากกว่าปกติ แก้ไขได้โดยใส่คอนแทคเลนส์ขนิดนิ่ม (SCL)

ผู้ที่ไม่เหมาะจะใส่คอนแทคเลนส์
1. มีสุขภาพตาไม่ดีเช่น เป็นต้อลม, ต้อเนื้อ, ตาแดง, กระจกตาไม่รับรู้ความรู้สึก, ตาแห้ง, ตาบวมและผู้ที่กระพริบตาครึ่งตา
2. มีโรคประจำตัวบางโรคเช่น
  • โรคเบาหวานมีอาการบวมเป็นแผลถลอก แผลหายช้าและอักเสบง่าย ค่าสายตาไม่คงที
  • โรคไขข้ออักเสบ ทำให้ตาแห้งการทำความสะอาดเลนส์และการใส่ต้องตรวจและติดตามผลบ่อยกว่าปกติ
  • โรคความดันโลหิตสูง มีผลทำให้น้ำในร่างกายไม่คงที่
  • โรคภูมิแพ้ มีโอกาสแพ้เนื้อวัสดุที่ผลิตคอนแทคเลนส์และแพ้น้ำยาได้ จะทำให้มีอาการตาแดง, ตาแห้งและคันตา
  • ตั้งครรภ์ ทุกอย่างในร่างกายจะปรับสภาพใหม่ มีผลทำให้กระจกตาบวม ควรแนะนำให้ใส่หลังคลอดแล้ว 3-4 เดือน
3. ผู้ที่ต้องทานยาบางประเภทเป็นประจำ เช่น
  • ยา ANTIHISTAMINE รักษาโรคภูมิแพ้
  • ยา ANTIDIABETIC รักษาโรคเบาหวาน
  • ทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานหลายปี มีผลทำให้น้ำที่กระจกตามีมากขึ้น 78% จะมีอาการกระจกตาบวม
4. ผู้ที่ทำงานบางประเภทที่ต้องประสบกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นประจำ เช่น
  • มีฝุ่นละอองมาก
  • มีลมแรงพัดผ่านเป็นประจำ
  • มีควันบุหรี่หรือควันพิษ รวมถึงเขม่าต่างๆ
  • มีไอระเหยของสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตราย
5. ผู้ที่อายุไม่เหมาะสม เช่น เด็กเกินไปหรือมีอายุมากเกินไป ไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้

Loading

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More